วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รางจืด ถอนพิษ สารเคมี

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Thumbergia laurifolia   Lindl.

วงศ์ :   Acanthaceae

ชื่ออื่น :  กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง เครือเขาเขียว ยาเขียว (ภาคกลาง) คาย รางเย็น  (ยะลา)  จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ดุเหว่า (ปัตตานี) ทิดพุด (นครศรีธรรมราช) น้ำนอง (สระบุรี) ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์)

สรรพคุณ : รางจืดที่มีประสิทธิภาพ คือรางจืดชนิดเถาดอกม่วง
รากและเถา - รับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ
ใบและราก - ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำลายพิษยาฆ่าแมลง พิษจากสตริกนินให้เป็นกลาง พิษจากดื่มเหล้ามากเกินไป หรือยาเบื่อชนิดต่างๆ เข้าสู่ร่างกายโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น ติดอยู่ในฝักผลไม้ที่รับประทาน เมื่ออยู่ในสถานที่ห่างไกล การนำส่งแพทย์ต้องใช้เวลา อาจทำให้คนไข้ถึงแก่ชีวิตได้ ถ้ามีต้นรางจืดปลูกอยู่ในบ้าน ใช้ใบรางจืดไม่แก่ไม่อ่อนเกินไปนัก หรือรากที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป และมีขนาดเท่านิ้วชี้ มาใช้เป็นยาบรรเทาพิษเฉพาะหน้าก่อนนำส่งโรงพยาบาล (รากรางจืดจะมีตัวยามากกว่าใบ 4-7 เท่า) ดินที่ใช้ปลูก ถ้าผสมขี้เถ้าแกลบหรือผงถ่านป่น จะช่วยให้ต้นรางจืดมีตัวยามากขึ้น

 รางจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia laurifolia Linn. เป็นพืชในวงศ์ Thunbergiaceae ชื่อเฉพาะถิ่นภาคใต้ คือ กาย รางเย็น ดุเหว่า ทิดพุด และภาคเหนือ คือ แอดแอหรือยำแย้ (เต็ม, 2544) สามารถพบได้ทั่วไปตามป่าดงดิบ ป่าละเมาะหรือตามทุ่งหญ้า เป็นพืชรสเย็น สรรพคูณทางยา ใช้ส่วนของ ใบ ราก เถา ตำคั้นหรือเอารากฝนกับน้ำ หรือต้มเอาน้ำดื่ม ใช้ปรุงเป็นยาเขียวถอนพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดงและพิษอื่น ๆ ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ รักษาโรคหอบหืดเรื้อรัง แก้อาการท้องร่วง แก้ประจำเดือนไม่ปกติ แก้ปวดหู ตำพอกแก้ปวดบวมและแก้อาการแพ้ แก้ผื่นคันผื่นคันเนื่องจากอาหารเป็นพิษ (มูลนิธิเพื่อพัฒนาการแพทย์ทางเลือก, 2549) ใช้แก้พิษเบื่อเมาเนื่องจากเห็ดพิษ สารหนูรวมถึงยาเบื่อประเภทยาสั่ง นอกจากนี้ยังสามารถแก้โรคพิษสุราเรื้อรังได้ดีการใช้รางจืดเพื่อลดระดับแอลกอฮอล์ก็มีด้วยกันหลากหลายวิธี ได้แก่ การนำใบสด 4 – 5 ใบ มาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวครึ่งแก้ว คั้นเอาแต่น้ำดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ อาจให้ดื่มซ้ำได้อีกใน 1/2 - 1 ชั่วโมงต่อมา (เอมอร, 2548 ; กรมอนามัย, 2549 ; มูลนิธิเพื่อพัฒนาการแพทย์ทางเลือก, 2549) หรืออาจใช้รากสด 1-2 นิ้วมือฝนหรือตำกับน้ำซาวข้าว แล้วดื่มขณะมีอาการ อาจรับประทานได้อีกใน 1/2 - 1 ชั่วโมงต่อมา อาจใช้ใบรางจืดแห้ง 300 กรัม (3 ขีด) ต่อน้ำ 1 ลิตรและให้ดื่มน้ำรางจืด 200 ลบ.ซม. ทุก 2 ชั่วโมง การใช้ใบรางจืดแบบแห้งอีกวิธี คือ ใบรางจืดแห้ง 1 หยิบมือ ชงกับน้ำเดือด 1 กาเล็ก (ใส่น้ำประมาณ 8 แก้ว) ดื่มแทนน้ำได้ทั้งวัน จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เล็กน้อย (กรมอนามัย, 2549) อีกวิธีหนึ่งคือการนำรากรางจืดมาเคี้ยวไว้ในปากแบบเคี้ยวหมาก เคี้ยวไปดื่มเหล้าไป เชื่อว่าจะไม่ทำให้เมา (ลลิตา, 2551)

ส่วนที่ใช้ :  ใบ ราก และเถาสด



ความเห็นส่วนตัว

ที่ผมเคยเห็นมา ว่านรางจืดมี 2 ประเภทนะครับ
1 ชนิดใช้ใบ คือเหมือนรูปตัวอย่าง เมื่อทานไปแล้วจะปัสสวะบ่อยไม่ต้องตกใจนะครับ

2 ชนิดใช้ราก การใช้คือ น้ำรากมาต้มกิน เป็นยาขับปัสวะได้ด้วย ผมเองก็ปลูกไว้คับแต่ไม่เคยใช้เพราะใช้แบบชนิดกินใบง่ายกว่าครับ

คนที่เป็นโรคไตต้องปรึกษาแพทย์ก่อนนะครับเพราะ ว่านนี้ทำให้ปัสวะบ่อยมากครับ แต่ก็เป็นการขับสารพิษออกมาทางนี้เลยครับ

วิธีใช้ ของผมที่เคยทำ:
ใบสด (ทดสอบมากแล้ว)
ใช้ใบสด 10-12 ใบ ต่อน้ำ 1 ลิตร ครับ (มากน้อยแล้วแต่ชอบเพราะจืดสมชื่อจริงๆ)
 การต้มให้คนดื่มแนะนำให้ใช้ร่วมกับใบเตยจะได้หอมๆครับ  พอต้มเสร็จก็ทิ้งไว้ให้เย็นอาจผสมน้ำผึ้งเพื่อการดื่มให้อร่อยครับ  ผมทดสอบมาแล้ว อร่อยครับ  อ่อที่สำคัญ อย่าใช้หม้อที่เป็นโลหะในการต้มนะครับเพราะผมยังหางานวิจัยรับรองไม่ได้ว่า รางจืดไปทำปฏิกิริยากับ โลหะหรือไม่ แต่ที่ทดสอบ หม้อจะเป็นรอยคราบเหมือนโดนกัดออกไป ผมเลยใช้โถแก้วหรือห้อมกระเบื่องครับ หรือใครจะใช้หม้อดินเผาก็ได้นะครับ
รากสด (ไม่เคยทดสอบ)
นำรากมาฝนหรือตำกับน้ำซาวข้าว แล้วดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ อาจใช้ซ้ำได้อีกใน 1/2 - 1 ชั่วโมง ต่อมา

 จากประสบการณ์ของนายหนอม ราชแก้ว แพทย์พื้นบ้านที่มีชื่อเสียงในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเคยนำรางจืดมาใช้ในการลดระดับแอลกอฮอล์ ในผู้ที่มีอาการเมา ปวดหัวและรู้สึกอ่อนเพลีย โดยเก็บใบรางจืดที่มีลักษณะไม่แก่ไม่อ่อนจนเกินไป จำนวน 25 ใบ แล้วนำมาตำโดยเติมน้ำเข้าไป 3 ใน 4 แก้ว คั้นน้ำรางจืดให้ดื่ม หลังจากดื่มจะอาเจียน แล้วให้ทานกล้วยตาม 2-3 ลูกหรือขนุน 2-3 ชิ้น ประมาณ 20 นาที ผู้ป่วยจะสามารถลุกไปทำงานต่อได้ทันที (หนอม , 2550)
 นอกจากนั้นยังมีรายงานการศึกษารางจืดพบว่า สามารถแก้โรคพิษสุราเรื้อรัง และผู้นิยมสมุนไพรยังแจ้งผลการใช้มาว่า รางจืดสามารถแก้พิษได้อีกหลายอย่าง เช่น สุนัขเฝ้าบ้านซึ่งโดนวางยาเบื่อ รอดชีวิตเพราะเจ้าของคั้นน้ำรางจืดให้กินหรือในอดีตใครที่ถูกวางยาก็มักจะแก้ด้วยรางจืด รวมทั้งแก้พิษเบื่อเมาจากอาหาร เช่น เห็ด ผักหวาน ว่านพิษหรือพิษจากสัตว์

พฤกษเคมี (phytochemical profiling) ของรางจืด ประกอบไปด้วยกลุ่มโพลีฟีนอล(polyphenol) ได้แก่ กรดฟีนอลิค(phenolic acid) เช่น กรดแกลลิก(gallic acid), กรดคาเฟอิค (caffeic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ , กรดโปรโตคาเทคซูอิค (protocatechuic acid) อีกกลุ่มคือ ฟลาโวนอยด์(flavonoid) ได้แก่ อาพิจินิน (apigenin)และอาพิจินิน กลูโคไซด์ (apigenin glucoside) โดยเฉพาะอาพิจินิน ซึ่งเป็นสารสำคัญในรางจืดที่สามารถยับยั้งพิษของสารหนูในการเปลี่ยนการควบคุม (deregulation) ของความเครียดเส้นใย (stress fiber) ซึ่งมีความจำเพาะต่อการจัดเรียงโครงร่างของเซลล์ นอกจากนี้โพลีฟีนอลยังเป็นตัวเก็บสารอนุมูลอิสระ เนื่องด้วยเป็นกลุ่มไฮดรอกซิลในโครงสร้างทางเคมี จึงสามารถจับสารอนุมูลอิสระและกําจัดออกไป รวมถึงช่วยป้องกันกระบวนการของโรครายต่างๆ โดยเพิ่มประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระและสร้างเสริมกระบวนการของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ กลูตาไธโอน-รีดักเทส (glutathione reductase) และกลูตาไธโอน-เอส-ทรานสเฟอเรส (glutathione-S-transferase)

การศึกษาความเป็นพิษของรางจืด เมื่อบริโภคขนาดสูงและขนาดเทียบเท่ากับการดื่มชาในคนทุกวันต่อเนื่องกัน โดยใช้หนูขาวสายพันธุ์สเปรค ดอวเลย์ (Spraque-Dawley) เป็นสัตว์ทดลองพร้อมกับศึกษาฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์ของรางจืดโดยใช้แบคทีเรีย ซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม(Salmonella typhimurium) สายพันธุ์ทีเอ98 (TA98) และ ทีเอ100 (TA100) ผลการทดลองพบว่าน้ำสกัดใบรางจืดขนาดสูง 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยทั่วไปของหนูขาวและไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายใน เมื่อทดสอบให้น้ำสกัดใบรางจืดขนาด 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อเนื่องกันเป็นเวลา 28 วัน พบว่าไม่มีหนูขาวตัวใดเสียชีวิตในระหว่างการทดสอบและไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายในทั้งหมด ยกเว้นน้ำหนักของตับ ไตและผลทางโลหิตวิทยาบางค่าของกลุ่มหนูขาวเพศผู้ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากกลุ่มควบคุม ในกลุ่มหนูขาวที่ได้รับน้ำสกัดใบรางจืดเป็นเวลา 28 วันและหยุดให้เพื่อสังเกตอาการต่อไปอีกเป็นเวลา 14 วัน พบว่าน้ำหนักตับและไตของหนูขาวเพศเมียต่ำกว่ากลุ่มควบคุม นอกจากนี้พบว่าระดับ มาลอนไดอัลดีไฮด์ (malondialdehyde) ซึ่งเป็นผลผลิตของขบวนการเกิดปฏิกิริยาลิปิดเปอร์ออกซิเดชั่น (lipid peroxidation) ในซีรั่มของหนูขาวเพศผู้ลดลงอย่างชัดเจนและรางจืดความเข้มข้นระหว่าง 2.5-20.0 มิลลิลิตร ไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ (วิรวรรณ และคณะ, 2546) นอกจากนี้ได้มีศึกษาพิษรางจืดในม้ามของหนูขาว (วีระชัย, 2547) โดยการประยุกต์ใช้เครื่องมือวิเคราะห์สารด้วยอินฟราเรด (Fourier-Transformed Infrared Spectrophotometer : FTIR) พิจารณาร่วมกับผลทางชีวเคมีและโลหิตวิทยา พบว่ามีการเคลื่อนของเลขคลื่น (FTIR spectra) ในบริเวณเอมีนที่ 1 (amide I) ของหนูที่ได้รับรางจืด (8,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มควบคุม (control rats) และมีการเพิ่มขึ้นของระดับบิลิรูบิน(bilirubin) สารสำคัญที่เกิดจากเอนไซม์ฮีม ออกซีจีเนส (heme oxygenase enzyme) ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและปรับผลจากความเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) และความเครียดไนโตรเซชั่น (nitrosative stress) (Foresti et al., 2003) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการสร้างอนุมูลอิสระออกมามาก จนเกินกว่าธรรมชาติของร่างกายจะสามารถสร้างสารต้านอนุมูลอิสระมาจับตัวอนุมูลอิสระได้ทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ จากความเสื่อมของเซลล์ในร่างกายขึ้น ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของน้ำสารสกัดรางจืด วัดโดยวิธีการรีดิวซ์เหล็กเฟอร์ริก (ferric reducing antioxidant power: FRAP) พบว่ามาจากการรีดิวซ์สารประกอบเชิงซ้อนของเหล็กที่มีวาเลนซี 2 เป็นเหล็กที่มีวาเลนซี 3 (Wong et al., 2006) โดยช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นและชะลอโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของเซลล์จากความเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress)

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ามีผู้สนใจศึกษาการใช้รางจืดในการแก้พิษ ตามหลักการแพทย์แผนไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการใช้มานานและเป็นที่ยอมรับ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและมากเพียงพอทั้งด้านฤทธิ์และกลไกทางเภสัชวิทยา ความปลอดภัย และประสิทธิผลทางคลินิก เพื่อส่งเสริมการใช้รางจืดได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อผู้บริโภค


เอกสารอ้างอิง

กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณสุข. (2551). สมุนไพรกับสุขภาพ: รางจืด แก้พิษ แก้เมา. สืบค้นจาก : http://advisor.anamai.moph.go.th/hph/herbs/herbindex.html, เข้าถึงวันที่ 12 มกราคม 2551.

เต็ม สมิตินันทน์. (2544). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ: บริษัทประชาชน จำกัด, 331.

มูลนิธิเพื่อพัฒนาการแพทย์ทางเลือก. (2549). Alcohol Knowledge.นิตยสารอัลเทอร์เนทีฟ เมดิซิน ,6(3).

ลลิตา ธีระสิริ. (2551).บัลวีรายปักษ์:แก้เมาค้าง . สืบค้นจาก :http://www.balavi.com/content_th/

Health_T/HT00020.asp, เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2550.

วิรวรรณ วิสิฐพงศ์พันธ์ และคณะ. (2546). การทดสอบความเป็นพิษของน้ำสกัดใบรางจืดในหนูขาว.

เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

คำเตือน :  สำหรับการถอนพิษยาฆ่าแมลง ยาพิษและสตริกนินนั้น ต้องใช้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะได้ผลดี ถ้าพิษถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมากหรือทิ้งไว้ข้ามคืน จะทำให้ประสิทธิผลของรางจืดลดน้อยลง มีการศึกษาวิจัยพบว่า อาจใช้น้ำคั้นใบสดให้ผู้ป่วยที่กินยาฆ่าแมลงดื่มเป็นการปฐมพยาบาล ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ แต่จะไม่ให้ผลในการกินเพื่อป้องกันก่อนสัมผัสยาฆ่าแมลง โดยการศึกษาครั้งแรกมีขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการทำการทดลองในหนูขาว โดยให้หนูได้รับพิษโพลิดอลซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่ง อยู่ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต พบว่า ใบรางจืดสามารถลดอัตราการตายของหนูจากพิษโพลิดอลได้ดีพอควร แม้ยังไม่ทราบถึงกลไกการแก้พิษนี้ก็ตาม โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี ได้ทำการศึกษาเช่นหัน โดยเก็บข้อมูลเบื้องต้นของการใช้รางจืดรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากยาฆ่าหญ้า “พาราควอท” (ชื่อการค้า “กรัมม็อกโซน”) ก่อนการทดลองเมื่อดูข้อมูลย้อนหลังไป 3 ปี พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับพาราควอทแล้วมาโรงพยาบาลมักเสียชีวิต แม้ว่าจะมีการรักษาตามขั้นตอนของการแก้พิษ คือ การให้ยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย ทำให้อาเจียนและล้างท้อง แต่หลังจากใช้รางจืดรักษาควบคู่กับวิธีของทางโรงพยาบาล พบว่าผู้ป่วยรอดชีวิตร้อยละ 51 ซึ่งมากกว่าการรักษาแบบปกติของโรงพยาบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น